ข่าวและโปรโมชั่น

พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ น้อมนำคำพ่อสอน วิถีเกษตรตามรอยพ่อ



พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์การเกษตร ที่เผยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงผลงานอันเนื่องมาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน พระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาอย่างแท้จริง


พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในมหามงคลสมัยที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี   ในปีพุทธศักราช 2539 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2539 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.2545


ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดตั้งสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) เพื่อดำเนินการบริหารงานตามพระราชกฤษฎีกา  จัดตั้งสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2552 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2552 พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช นวนคร ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ 


พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯแห่งนี้ จัดแสดงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แบ่งพื้นที่การจัดแสดงออกเป็น 10 โซน ในแนวคิด “10 โซนมหัศจรรย์การเรียนรู้วิถีเกษตรตามรอยพ่อ” ซึ่ง ได้รวบรวม พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ผลงานอันเนื่องมาจากพระอัจฉริยภาพ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งวิวัฒนาการ ภูมิปัญญา นวัตกรรม และพัฒนาการของเกษตรกรไทย ไว้สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวของประชาชนผู้สนใจ 

 
  • โซนที่ 1 “พระราชพิธีในวิถีเกษตร” จัดแสดงหุ่นจำลองการประกอบราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวนา พร้อมประกอบด้วยคำอธิบาย ความเป็นมาและความหมายของพระราชพิธี
     
  • โซนที่ 2 เป็นห้องฉายภาพยนตร์ เรื่อง “กษัตริย์ เกษตร” เผยแพร่เรื่องราวของราษฎร ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จนสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้มีพออยู่พอกิน ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพยนตร์ทางการ์ตูน แอนิเมชัน ซึ่งเมื่อดูแล้ว ฉันรู้สึกซาบซึ้งปีติในน้ำพระทัยของพระองค์ท่านอย่างมาก ในโซนนี้ที่ข้างนอกห้อง ยังมีการจัดแสดงเรื่องราวพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดระยะเวลาที่ครองสิริราชสมบัตินานกว่า 60 ปี โดยมีการจัดทางเดินเป็นวงกลมรอบห้องฉายภาพยนตร์

     
  • โซนที่ 3 มีซุ้มประตูรวงข้าวโดดเด่น จัดแสดง “เรื่องของพ่อในบ้านของเรา” นำเสนอเรื่องราวหลักการทรงงานทั้ง 23 ข้อที่ทำให้คนไทยกว่า 60 ล้านคนอยู่เย็นเป็นสุขมาถึงปัจจุบัน และพอสุดทางเดินนั้นก็ได้พบกับ บ้านชาวนาและสวนผักจำลอง

     
  • เป็นพื้นที่ในโซนที่ 4 “หัวใจใฝ่เกษตร” เป็นจุดนันทนาการสำหรับเด็ก คล้ายๆสนามเด็กเล่น แต่เป็นของเล่นในแบบอุปกรณ์การเกษตร

     
  • โซนที่ 5 โซนนี้จัดแสดงนิทรรศการ “ตามรอยพ่อ อยู่อย่างพอเพียง” ห้องโถงโล่ง มีโคมไฟตกแต่ง แสดงเรื่องราวเศรษฐกิจพอเพียง จัดแสดงวีดีทัศน์ที่ถ่ายทอดพระราชจริยวัตร พระราชกรณียกิจที่สะท้อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นตัวอย่างที่ควรน้อมนำไปใช้เป็นแบบอย่าง

     
  • โซนที่ 6 “วิถีเกษตรของพ่อ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงงานแต่ในพระราชวังเพียงเท่านั้น พระองค์ท่านยังได้ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ โดยทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายในการแก้ไขพื้นที่ที่ได้รับความเดือนร้อน พระองค์ท่านทรงค้นคว้าทดลองโครงการส่วนพระองค์ขึ้นมามากมาย แต่ละโครงการนั้นล้วนแล้วแต่นำพาประโยชน์สุขมาสู่ประชาชน เช่น โครงการหลวง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 เป็นตัวแทนการแก้ไขปัญหาในแต่ละภูมิภาค

     
  • โซนที่ 7 “นวัตกรรมของพ่อ” จัดแสดงเรื่องราวสิ่งประดิษฐ์ ด้วยพระวิริยะและพระปรีชาสามารถทรงได้ประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ต่างๆเพื่อพัฒนาการเกษตรไทย ตัวอย่างเช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา พระองค์ทรงมีพระราชดำริ “ให้จดสิทธิบัตร จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและแจ้งในสิ่งที่คิดค้นเพื่อเป็นสมบัติและภูมิปัญญา เป็นมรดกสำหรับคนไทยและประเทศไทย” และยังมีสิ่งประดิษฐ์ในด้านอื่น จัดแสดงไว้ให้ชม

     
  • โซนที่ 8 โซน“ภูมิพลังแผ่นดิน” มีจุดเด่นเป็นโดมที่ใช้ไม้สนในการสร้างแบบยุโรปเพื่อสื่อถึงความอบอุ่น เมื่อได้เข้าไปด้านใน ภายในประกอบด้วยภาพวีดีโอ ที่ย้อนไปเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ จัดแสดงภายในโดมไม้สน และยังมีการจัดแสดงยุคสมัยที่ 1-7 ตั้งแต่ที่พระองค์ได้พระราชสมภพ ขึ้นครองราชย์ และ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างมิทรงย่อท้อเหน็ดเหนื่อย ทุกคนต่างทราบดีในเรื่องสายพระเนตรที่ยาวไกลและพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ท่าน ในการบริหารจัดการน้ำ ที่ทำให้เกิดโครงการในพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อพสกนิกรปวงชนชาวไทย จะได้มีน้ำใช้น้ำกิน ซึ่งสามารถรับรู้ถึงพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ท่านได้ในโซนที่ 9 ที่รออยู่ข้างหน้า

     
  • โซนที่ 9 เป็นโซน “น้ำ คือ ชีวิต” โซนนี้นอกจากการจัดแสดงต่างๆแล้ว ยังมีสิ่งเตือนใจคนไทยด้วยพระราชดำรัสของในหลวง ณ สวนจิตรลดา 17 มี.ค. 2529 ซึ่งมีความว่าตอนหนึ่ง “หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำไว้บริโภค มีน้ำไว้ใช้ เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั้น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้" จัดแสดงพระราชกรณียกิจต่างๆ วิธีการทรงงานของพระองค์ท่านในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อใช้ในด้านอุปโภคบริโภคและใช้ในการเกษตร

     
  • โซนที่ 10 โซนสุดท้าย ตั้งอยู่กลางอาคารจัดแสดง “ลานภูมิปัญญา” บรรยากาศของโซนนี้เป็นพื้นที่ร่มรื่น สงบเหมาะกับนั่งพักหลังการเดินชมในส่วนต่างๆ ประดับฝาผนังด้วยรูปพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ประดับแผ่นศิลาฤกษ์ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อ พ.ศ.2539 ด้านบนเป็นภาพนูนต่ำ แสดงสัญลักษณ์ กรม กองต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ไว้ให้ผู้ที่ได้มานั่งพัก ได้ชมกัน

เมื่อครบทั้ง 10 โซนแล้ว ได้เห็นถึงน้ำพระทัยที่พระองค์ทรงดูแลทุกข์สุข ของประชาชนของท่าน อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทำให้ฉันได้รับรู้และเรียนรู้ เรื่องราวต่างๆมากมายด้านการเกษตรของพระองค์ท่าน นอกจากสิ่งน่าสนใจใน 10 โซนแล้ว ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมี ส่วนจัดแสดงภายนอกอาคาร เป็นส่วนเนื้อหาภาคปฏิบัติที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่จัดแสดงภายในอาคาร มีการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ ฐานชุมชนพอเพียง 1 ไร่พึ่งตนเอง ฐานมหัศจรรย์เกษตรไทย ฐานนวัตกรรมพลังงานทดแทน


นับได้ว่าที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ชั้นดี ให้ผู้ที่เข้าชมได้ซึมซับนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถ้าหากคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ด้วยพื้นฐานของคำว่า“พอเพียง เพียงพอ” ประเทศของเราจะสวยงามน่าอยู่กว่านี้อีกมากโข



สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) โทร. 094-649-2333 หรือ 087-359-7171 Website : http://www.wisdomking.or.th/



ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : www.manager.co.th


 

เพิ่มเติม

 





 

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)