
วังสวย ๆ ที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่หลายคนต้องรู้จักกันอย่างแน่นอน นั่นก็คือ "วังบางขุนพรหม" พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย แถวถนนสามเสนนั่นเองและเปิดให้เข้าชมฟรีอีกด้วย
วังบางขุนพรหมเป็นวังเก่าแก่อายุมากกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการสำคัญทั้งฝ่ายกลาโหมและมหาดไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นปู่ของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่ากทม.ของเรานั่นเอง
ด้วยการตกแต่งแบบยุโรปสมัยยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม สไตล์บาโรค ซี่งเป็นศิลปะของประเทศอิตาลี ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นเส้นนูนตามประตูกับช่องแสง และบานประตูไม้แกะสลัก ที่บ่งบอกถึงความหรูหรา และน่าจะเป็นที่น่าตื่นตาสำหรับคนที่ชื่นชอบสถาปัตยกรรมเก่าแก่และหาดูได้ยากในประเทศไทย
นอกจากสถาปัตยกรรมและข้าวของเครื่องใช้แล้ว ภายในวังบางขุนพรหมยังประกอบไปด้วยห้องนิทรรศการทั้งหมด 8 ห้องซึ่งจัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติไทยในอดีต รวมถึงวิวัฒนาการเงินตราของไทยและสังคมของไทยในแต่ละยุคสมัยอีกด้วย
สำหรับการจัดแสดงห้องสำคัญต่าง ๆ ภายในวังบางขุนพรหม มีรูปแบบที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- ห้องเปิดโลกเงินตราไทย : จัดแสดงโบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ อาทิ หม้อบ้านเชียง ลูกปัดดินเผาบ้านเชียง กำไลหิน ต่างหูหิน ขวานหิน และขวานสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก่อนมีเงินตรา ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีการให้ข้อมูลเรื่องเงินตราโบราณในรูปแบบของแอนิเมชั่น รวมถึงการจัดแสดงเงินตราอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรใกล้เคียงที่มีหลักฐานว่ามีการนำมาใช้ในประเทศไทย เป็นต้น
- ห้องธนบัตรไทย : จัดแสดงวิวัฒนาการการใช้เงินกระดาษในระบบเงินตราไทย ตั้งแต่การออกเป็นหมาย ใบพระราชทานเงินตรา อัฐกระดาษ บัตรธนาคาร และตั๋วเงินกระดาษ จนกลายมาเป็นธนบัตรที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้
- ห้องธนบัตรต่างประเทศ : ชมวิดีทัศน์ให้ความรู้เรื่องธนบัตรจากทั่วโลก พร้อมจัดแสดงธนบัตรในบอร์ดกระจกที่ผู้ชมสามารถพลิกชมเองได้ทั้งสองด้าน โดยจัดแสดงธนบัตรในกลุ่มประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิก อาทิ กลุ่มผู้นำประเทศอุตสาหกรรม (G8) และกลุ่มธนาคารแห่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACEN)
- ห้องประวัติและการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย : ผู้ชมจะได้ทราบประวัติและการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2485 ถึงปัจจุบัน ผ่านสื่อที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น Computer Kiosk 2D Animation และเกมสนุก ๆ อีกมากมาย โดยท้ายสุดของห้องนี้จัดทำเป็นห้องเชิดชูเกียรติ เพื่อแสดงประวัติและวัตถุที่ระลึกจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยทุกท่านอีกด้วย
- ห้องสีชมพู : ชมความงามของอดีตห้องท้องพระโรงสำหรับต้อนรับอาคันตุกะสำคัญของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ด้วยการตกแต่งทั้งห้องในโทนสีชมพู และมีความงดงามกว่าห้องอื่น ๆ ด้วยลวดลายปูนปั้นเดินลายทองทั้งที่ผนัง กรอบของช่องเปิด และฝ้าเพดาน
- ห้องสีน้ำเงิน : เดิมทีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงตั้งพระทัยให้ห้องนี้เป็นห้องรับรองอาคันตุกะของหม่อมเจ้าประสงค์สม ชายา แต่ในปัจจุบันห้องนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งได้มีการพระราชทานแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2489
- ห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์ : ห้องนี้เคยใช้เป็นห้องบรรทมของหม่อมเจ้าประสงค์สม แต่เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้วังบางขุนพรหมเป็นสถานที่ทำการ ห้องนี้จึงกลายเป็นห้องทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรก ซึ่งได้แก่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้เป็นพระอนุชาของหม่อมเจ้าประสงค์สม จนกระทั่งถึงสมัยผู้ว่าการคนที่ 10 คือ นายนุกูล ประจวบเหมาะ
- ห้องประชุมเล็ก : เดิมห้องนี้เคยเป็นห้องเก็บเครื่องดนตรี เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โปรดดนตรีทั้งไทยและสากล โดยทรงนิพนธ์เพลงไว้ถึง 39 เพลง ซึ่งในเวลาต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้เป็นที่ประชุมผู้บริหาร โดยภายในห้องนี้มีรูปหล่อครึ่งตัวของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 7 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งยาวนานกว่า 12 ปี จนบางครั้งห้องนี้ก็ถูกเรียกว่า ห้อง ดร.ป๋วย
รายละเอียดการเข้าชม: พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมเป็นรายบุคคล/หมู่คณะโดยไม่เก็บค่าเข้าชม
- ตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. ยกเว้นวันหยุดธนาคาร
- โดยวันจันทร์-วันอังคาร เปิดให้เข้าชมเป็นรายบุคคล (ไม่ต้องติดต่อล่วงหน้า) ส่วนวันพุธ-วันศุกร์
- สำรองไว้สำหรับการขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ ทั้งนี้ โปรดโทรศัพท์สอบถามตารางการเยี่ยมชมไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ เพื่อจองวัน/เวลาเข้าชม ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ตามด้านล่าง หลังจากนั้นจึงทำหนังสือขออนุญาตเข้าชมถึง ผู้อำนวยการหอสมุด จดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์
สถานที่ตั้ง : พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยธนาคารแห่งประเทศไทย 273 ถนนสามเสน เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์ : 0-2283-5286, 0-2283-6723, 0-2283-6152, 0-2356-7702 และ 0-2283-5265
โทรสาร : 0- 2283-6115 หรือทาง e-mail ที่ Museum@bot.or.th
วิธีเดินทาง
- รถยนต์ส่วนตัว : ใช้เส้นทางสะพานพระราม 8 มุ่งหน้าไปยังถนนสามเสน ก่อนเข้าทางประตูธนาคารแห่งประเทศไทย
- รถไฟฟ้า BTS : ลงสถานีราชเทวี ออกทางออกที่ 3 ต่อรถประจำทางสาย 99 หรือลงสถานีสะพานตากสิน ออกทางออกที่ 2 ต่อเรือด่วนเจ้าพระยาที่ท่าสาทร ไปขึ้นที่ท่าพระราม 8 จากนั้นเดินไปตามถนนวิสุทธิกษัตริย์
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
http://soimilk.com ,
https://www.bot.or.th/ และ
travel.kapook.com
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)